“ เอไอเอสมุ่งมั่นพร้อมคำสัญญาที่จะเดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น “Cognitive Tech-Co” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบร่วมกัน และยังคงคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ”
ในปี 2566 การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายอย่างมากภายใต้ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเปราะบางจากความขัดความแย้งระหว่างประเทศ รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อที่กระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนั้น ประเทศไทยยังต้องพร้อมรับมือกับ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะยิ่งแปรปรวนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงกฎหมาย พันธสัญญา และ ข้อกำหนดการค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจำกัดและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความท้าทาย ดังที่กล่าวมาส่งผลต่อการขยายปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง มีผลต่อการเติบโตในเชิงเศรษฐกิจและรายได้ของประชากร ซึ่งส่งผลสืบเนื่องมายังการเติบโตของธุรกิจ
ในขณะเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคสื่อดิจิทัลที่สูงขึ้นเป็นทวีคูณ โดยคนส่วนใหญ่ใช้เวลากับกิจกรรมออนไลน์ในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น ในด้านธุรกิจก็มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างประสิทธิภาพและการเข้าถึงตลาดในรูปแบบใหม่ๆ รวมไปถึงแนวโน้มที่ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจซื้อสินค้าและในกระบวนการผลิตสินค้า สิ่งเหล่านี้ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารซึ่งเป็นทั้งโครงสร้างพื้นฐานและสื่อกลางในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม
เอไอเอสจึงเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงแหล่ง ความรู้ที่หลากหลาย เอไอเอสเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์ที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตร่วมกันของคนและสิ่งแวดล้อมในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งมั่นสร้าง “เศรษฐกิจแบบร่วมกัน” หรือ Ecosystem Economy ประกอบด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐที่สำคัญในมิติต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสินค้าและบริการทางด้านดิจิทัลที่หลากหลาย และการพัฒนาคนและการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Nation)
เอไอเอสเร่งปรับธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับหลักปฏิบัติบรรษัทภิบาลที่มีความเป็นธรรมและโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน โดยใช้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ด้านเป็นเข็มทิศในการสานต่อวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเรา ซึ่งประกอบไปด้วยการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ การสร้างการเข้าถึงดิจิทัลเพื่อสังคม และ การยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยตลอดปี 2566 ได้มีการ บูรณาการการดำเนินงานและมีพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้
ขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ
เอไอเอสมุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการต่อยอดสร้างนวัตกรรมทางด้านดิจิทัล โดยในปีที่ผ่านมา เราได้ขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมใกล้เคียง ร้อยละ 90 ของประชากร พร้อมด้วยการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพันธมิตร อาทิ AIS 5G Paragon platform เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งของระบบการป้องกันภัยไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินกระบวนการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการประเมินความเสี่ยงของผู้ให้บริการภายนอก (Third Party) ที่เชื่อมต่อกับระบบข้อมูลของบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและข้อมูลสำคัญของบริษัทได้รับการปกป้องตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้เอไอเอสยังให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองของการขับเคลื่อนองค์กรทั้งในด้านความมั่นคงของบริษัทและนวัตกรรม เราจึงมุ่งมั่นสร้างทักษะและองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตขององค์กร รวมทั้งเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
สร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้ทุกคนในสังคม
เอไอเอสเชื่อว่าการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัย เพิ่มโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ และในปีที่ผ่านมายังคงสานต่อโครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย” โดยใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ทางออนไลน์ “LearnDi” และ แพลตฟอร์มห้องสมุดดิจิทัล “ReadDi” เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับคนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้ว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้นจะสร้างผลประโยชน์ที่หลากหลาย แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงจากการใช้งานสำหรับผู้บริโภค เอไอเอสจึงตระหนักถึงการส่งเสริมทักษะความฉลาด ทางดิจิทัลให้กับผู้ใช้งานผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ที่เป็นบทเรียนพร้อมแบบทดสอบออนไลน์ที่เข้าถึงผู้เรียนถึง 322,000 ราย และในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มสร้างดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ซึ่งเป็นมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลสำหรับประชาชนและส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น
ยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม
เอไอเอสตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น เอไอเอสจึงวางกลยุทธ์ครอบคลุมทั้งการดำเนินธุรกิจของเอไอเอสและห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ในปีที่ผ่านมาเราใช้เทคโนโลยีและวางแผนจัดสรรการใช้พลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งริเริ่มประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมในขอบเขตที่ 3 เพื่อสร้างความตระหนักให้กับหน่วยธุรกิจต่าง ๆ และนำผลลัพธ์มาวางกลยุทธ์เพื่อที่ จะบรรลุเป้าหมาย ในปี 2566 เอไอเอสติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นได้ 8,835 แห่ง และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 16,376 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในด้านการจัดการขยะ เอไอเอสมุ่งมั่นที่จะจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบ พร้อมสนับสนุนให้คนไทยมีความตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงการคนไทยไร้ e-waste โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการกำจัดซากและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นวงจรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เอไอเอสมุ่งมั่นพร้อมคำสัญญาที่จะเดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น “Cognitive Tech-Co” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบร่วมกัน และยังคงคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ตลอดจนสร้างคุณค่าด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักบรรษัทภิบาล เพื่อเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นใน กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและส่งเสริมการพัฒนาในทุกภาคส่วนให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
กานต์ ตระกูลฮุน
ประธานกรรมการบริษัท