การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีส่งผลให้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยขึ้นเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และสามารถตอบสนองต่อการใช้งานในทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุให้ของเสียอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอไอเอสมุ่งมั่นในการบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ทั้งนี้ ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจให้เอไอเอส ร่วมมือกับคู่ค้าในการเสนอสินค้าและบริการที่มีความรับผิดชอบและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อลูกค้า ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้วยังสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของลูกค้าต่อการใช้สินค้าและบริการของเอไอเอส
แนวทางการดำเนินงาน
การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการดำเนินธุรกิจ
เอไอเอสบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกผู้รับกำจัดของเสียที่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการติดตามตรวจสอบการกำจัดของเสียอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ณ สถานที่กำจัดของเสีย ในปี 2566 มีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการดำเนินธุรกิจทั้งหมดอย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบ
การบริหารจัดการขยะจากอาคารสำนักงาน
จัดให้มีพื้นที่คัดแยกขยะให้มีการแบ่งประเภทถังขยะที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง โดยจำแนกเป็น 4 ประเภท คือ 1) ขยะทั่วไป 2) ขยะรีไซเคิล 3) ขยะเศษอาหาร และ 4) ขยะอันตราย เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง สามารถนำขยะที่คัดแยกได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำไปกำจัดตามประเภทได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ศูนย์ AIS Contact Center Development & Training Arena จังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยสามารถลดขยะที่เกิดจากเศษอาหารได้ประมาณ 11 ตัน
คนไทยไร้ e-waste (HUB of E-waste)
ยกระดับโครงการ คนไทยไร้ e-waste สู่การเป็น HUB of E-Waste หรือ ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะแห่งแรกของไทย ทั้งในแง่ของศูนย์กลางองค์ความรู้ ศูนย์กลางความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ศูนย์กลางของจุดรับทิ้ง และศูนย์กลางระบบขนส่ง ไปจนถึงศูนย์กลางการกำจัดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 190 องค์กร ขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้กว่า 2,500 จุดทั่วประเทศ สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้กว่า 140,760 ชิ้น และนำไปกำจัดโดยปราศจากการฝังกลบ (Zero landfill) โดยสามารถอ่านรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ที่นี่
ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (HUB of E-waste)
• HUB of Knowledge: ศูนย์กลางความรู้ที่รวบรวมข้อมูล บทความ งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม และขยะอิเล็กทรอนิกส์
• HUB of Community: ศูนย์กลางเครือข่าย Green Community สร้างชุมชนให้เกิดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
• HUB of Drop Points: ศูนย์กลางความร่วมมือในการขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันมากกว่า 2,500 จุดทั่วประเทศ และยกระดับจุดรับทิ้งผ่านแอปพลิเคชัน E-waste+ กว่า 500 จุด
• HUB of Transportation: ศูนย์กลางระบบจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำงานร่วมกับไปรษณีย์ไทย ในการขนส่ง รวมถึงการติดตามตรวจสอบสถานะขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste+
• HUB of Circular: ศูนย์กลางการจัดการและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด (WMS) ซึ่งมีเป้าหมายในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบ หรือ Zero e-waste to landfill
ตารางสรุปผลการดำเนินงาน
ตัวชี้วัด | หน่วย | 2563 | 2564 | 2565 | 2566 | เป้าหมายปี 2566 |
---|---|---|---|---|---|---|
ปริมาณของเสียที่เกิดจากการดำเนินงานรวมทั้งหมด | ตัน | 548 | 183 | 1,277 | 2,927 | |
รวมปริมาณของเสียที่นำไปจัดการด้วยวิธีการอื่นก่อนการกำจัดขั้นสุดท้าย
|
ตัน | 356 | 147 | 1,093 | 2,570 | |
รวมปริมาณของเสียที่นำไปกำจัดขั้นตอนสุดท้าย
|
ตัน | 192 | 36 | 184 | 357 | 440 |
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมรวมถึงโครงการอื่น ๆ ได้ที่หัวข้อ การลดและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ในรายงานการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนประจำปี 2566