
วิศวฯ และแพทย์ จุฬาฯ ผนึกเอไอเอส ห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์ นำเทคโนโลยี 5G เสริมขีดความสามารถหุ่นยนต์อัจฉริยะ ดูแลเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19
จากสถานการณ์เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ เอไอเอส พัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยี 5G และ 4G มาช่วยเสริมขีดความสามารถการทำงานของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ซึ่งคิดค้นและพัฒนาจากฝีมือคนไทย โดยศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics Technology ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญครบวงจรโรคหลอดเลือดสมอง ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาใช้ติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์นี้ เริ่มต้นได้คิดค้นด้วยจุดมุ่งหวังในการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำมายกระดับการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วย ด้วยการรักษาและให้คำปรึกษาผ่านทางไกลผ่านระบบ Telemedicine ที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อขยายขีดความสามารถในการดูแลและรักษา เมื่อมีปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ จะนำมาดัดแปลงเพื่อช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลสำหรับดูแลผู้ติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในเบื้องต้นหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ เริ่มถูกนำไปใช้งานเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลทรวงอก และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมและขยายบริการไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด
โดยคุณสมบัติเด่นในการใช้งานหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ในการติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่
- ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย ได้สื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ VDO Conference ด้วยภาพความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้
- แพทย์ พยาบาล สามารถควบคุม สั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล เช่น ติดตามอาการของผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อโดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังด้วยตนเอง
- หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital sign) เช่น วัดความดัน, วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), วัดอุณหภูมิ และส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์