แจ้งความออนไลน์ได้ที่ไหน และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

แจ้งความออนไลน์ คืออะไร

การแจ้งความออนไลน์ เป็นการแจ้งความประเภทหนึ่งที่ทำได้ทันทีผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานีตำรวจ สามารถส่งหลักฐาน และติดตามขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย

คดีแบบไหนที่สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ 

ปัจจุบันการแจ้งความออนไลน์ยังทำได้เฉพาะการแจ้งความเกี่ยวกับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เท่านั้น โดยมีประเภทของคดีที่สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ มีดังนี้

  • • การหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน
  • • การพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติ
  • • การเผยแพร่ขาวปลอม และความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์
  • • คดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหรือสตรีทางออนไลน์หรือค้ามนุษย์
  • • การจำหน่ายสิ่งของผิดกฎหมาย หลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์

กรณีเกี่ยวกับการกระทำผิดอื่น ๆ ยังจำเป็นจะต้องไปแจ้งความที่ “สถานีตำรวจในท้องที่” เหมือนเดิม หากในกรณีที่สถานีตำรวจนั้น ๆ ไม่มีอำนาจในการสอบสวน ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะทางสถานีที่เราไปแจ้งความจะดำเนินการส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่มีอำนาจสอบสวนต่อไป และในส่วนของเอกสารที่ต้องเตรียมเพิ่มเติมในการแจ้งความออนไลน์ ได้แก่

  • • เอกสารบัตรประจำตัวประชาชน
  • • ภาพจากการแคปหน้าจอ
  • • ลิงก์ที่มีการหลอกลวง
  • • หน้าโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของผู้กระทำความผิด
  • • เลขบัญชีธนาคารหรือเลขอ้างอิง ในกรณีที่โอนเงินให้คนร้ายไปแล้ว

แจ้งความออนไลน์ได้ที่ไหน และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ในปัจจุบันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สร้างระบบ “การแจ้งความออนไลน์” ขึ้นมา เพื่อให้การแจ้งความหรือร้องเรียนเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเรื่องสะดวกและ ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีมิจฉาชีพออนไลน์กลาดเกลื่อนและมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก การแจ้งความออนไลน์จะต้องทำอย่างไรบ้าง มาดูกัน

ช่องทางในการแจ้งความออนไลน์

ช่องทางการแจ้งความออนไลน์ คือ เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ https://thaipoliceonline.go.th เท่านั้น โดยทางตำรวจจะไม่มีการรับแจ้งความผ่าน LINE หรือข้อความเช่น Direct Message (DM)

ซึ่งในกรณีที่เคยเป็นข่าวดังในโลกออนไลน์ กรณีผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปี ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินซื้อคูปองเกมออนไลน์แล้ว หลังจากนั้นจึงไปแจ้งความผ่านเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมา แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง หลอกลวงให้โอนเงินเป็นค่าเจาะระบบเว็บไซต์พนันออนไลน์ เพื่อจะนำเงินที่ผู้เสียหายถูกหลอกลวงไปกลับคืนมาเป็นอีกหนึ่งกลลวงของมิจฉาชีพ ดังนั้นก่อนจะแจ้งความออนไลน์ก็ต้องตรวจสอบให้ดีก่อน และระลึกไว้เสมอว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีนโยบายในการติดตามทรัพย์สินกลับคืนโดยการเจาะระบบเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย

แจ้งความออนไลน์

วิธีและขั้นตอนในการแจ้งความออนไลน์

• Step 1: ขั้นตอนการลงทะเบียน

ก่อนการแจ้งความออนไลน์สิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก คือ “การลงทะเบียน” โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน โดยจะต้องกรอกข้อมูลผู้ใช้ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นความจริง ทั้งคำนำหน้า, ชื่อภาษาไทย, นามสกุลภาษาไทย, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล , วันเดือนปีเกิด, เลขประจำตัวประชาชน, Laser Code หลังบัตรประจำตัวประชาชน เลือกเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล เป็น “รหัสผู้ใช้งาน” จากนั้นกำหนดรหัสผ่านและยืนยันรหัสผ่านให้เรียบร้อย และการลงทะเบียนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อเรายืนยันตัวตนด้วย OTP ผ่านอีเมลที่ใช้ลงทะเบียน

• Step 2: ขั้นตอนการแจ้งความออนไลน์

เมื่อลงทะเบียนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้กดเข้าระบบอีกครั้งเพื่อทำการกรอกข้อมูลผู้เสียหาย หรือข้อมูลของคนร้าย (กรณีถูกมิจฉาชีพเข้าถึงบัญชีให้ตอบคำถามก่อนแจ้งความให้ครบถ้วน จากนั้นแจ้งธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีก่อนแจ้งความ พร้อมกับกรอกเลขอ้างอิงที่ได้รับ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้กดปุ่ม “ถัดไป”) จากนั้นจะได้เลขรับแจ้งความมาจากระบบ รับแจ้งภายใน 3 ชั่วโมง จากนั้นแอดมินจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะติดต่อกลับมา ระบุว่าได้รับข้อมูลการแจ้งความแล้ว และสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น

• เตรียมเอกสารและหลักฐาน

หลักฐานที่ต้องเตรียม คือ ไฟล์ออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลของผู้กระทำความผิด เช่น การแคปภาพหน้าจอ ลิงก์ที่มีการหลอกลวง หน้าโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของผู้กระทำความผิด หรือในกรณีที่โอนเงินให้คนร้ายไปแล้วให้แจ้งธนาคารและขอเลขอ้างอิง เพื่อแนบไปกับการแจ้งความออนไลน์ด้วย

• Step 3: ขั้นตอนการติดตามสถานะของคดีที่ได้แจ้งความออนไลน์ไป

หลังจากที่แจ้งความเสร็จสมบูรณ์แล้วสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของคดีที่แจ้งความได้ผ่านหน้าหลักบนเว็บไซต์ได้เลย บนหน้าเว็บไซต์จะปรากฏรายละเอียดชัดเจนว่าตอนนี้คดีอยู่ในขั้นตอนไหน หรือหากคดีสิ้นสุดเราก็จะตรวจสอบได้จากหน้าเว็บไซต์เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ใช้ประกอบในการแจ้งความออนไลน์

ก่อนไปแจ้งความออนไลน์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแนะนำ 3 ขั้นตอนเบื้องต้น ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คือ

  1. แคปหน้าจอ: การบันทึกภาพหน้าจอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางออนไลน์ เพราะจะสามารถแสดงให้เห็นถึง ชื่อบัญชี วันเวลาที่โพสต์ ตลอดจนข้อความและภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้
  2. กดเซฟลิงก์: การบันทึกลิงก์ URLs ที่สามารถนำไปสู่โพสต์ที่เป็นความผิด เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถนำลิงก์ดังกล่าวไปตรวจสอบข้อมูลกับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ และใช้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
  3. บันทึกหน้าโปรไฟล์: การเข้าไปตรวจสอบหน้าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของคนร้าย รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น และหาลิงก์ของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องใช้ในการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ "เพราะลิงก์ของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แต่ละบัญชีเปรียบเสมือนรหัสประจำตัวประชาชน ที่จะไม่ซ้ำกับบัญชีอื่นแม้จะมีชื่อโปรไฟล์เดียวกัน จึงสามารถนำมาใช้ระบุบัญชีที่ใช้ในการกระทำความผิดได้"

แจ้งความออนไลน์

สายด่วน AIS 1185 บริการแจ้งเบอร์โทรมิจฉาชีพ

สำหรับลูกค้า AIS สามารถโทรเข้ามาที่เบอร์ 1185 ซึ่งเป็นสายด่วนของศูนย์รับเรื่องร้องเรียน หรือ AIS Spam Report Center ที่เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโทรฟรี เพื่อแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพ โดยบริการสายด่วน 1185 นี้เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ AIS ที่ต้องการจะสร้างความเหมาะสมและความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ขึ้นในประเทศไทยของเรา ในตอนนี้ AIS มีเครื่องมือที่เข้าไปตรวจสอบสุขภาวะดิจิทัลของเรา เพื่อเช็กระดับความรู้ของเราในด้านไซเบอร์ นั่นก็คือ Digital Health Check ผ่านทางเว็บไซต์ https://digitalhealthcheck.ais.th ที่จะช่วยประเมินทักษะทางดิจิทัลของเราว่ามีความรู้อยู่ในระดับไหน แถมยังแนะนำคอร์สเรียนจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ที่เหมาะสมกับเรา เพื่อให้เราได้เข้าไปเรียนรู้พัฒนาทักษะทางดิจิทัลของเราในเรื่องนั้น ๆ จะได้มีภูมิคุ้มกันจากภัยไซเบอร์