วิธีรับมือกับการโดนบูลลี่ (Bully) พร้อมคำแนะนำหากโดนบูลลี่
วิธีรับมือกับการโดนบูลลี่ (Bully) พร้อมคำแนะนำหากโดนบูลลี่
เป็นเรื่องน่าตกใจที่พบว่าจากสถิติที่ผ่านมาประเทศไทยมีการบูลลี่หรือการกลั่นแกล้ง ล้อเลียนกันในสังคมมากเป็นอันดับสองของประเทศฝั่งเอเชียรองจากญี่ปุ่น และมีแนวโน้มที่ว่าการบูลลี่กันในสังคมนั้นอาจจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในปีต่อไป ในยุคดิจิทัลปัจจุบันที่ทำให้การบูลลี่ไม่ได้เป็นการบูลลี่กันแค่เพียงซึ่งหน้า แต่ยังลามไปถึงการโดนบูลลี่บนโซเชียลมีเดียหรือในสังคมออนไลน์อีกด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเศร้ามากเพราะบางครั้งการโดนบูลลี่บนโลกออนไลน์มาจากคนที่ไม่แม้แต่จะรู้จักกันด้วยซ้ำ
ส่วนสถิติจากผลสำรวจของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (มพร.) ร่วมกับมูลนิธิ Ford Foundation และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2566 พบว่าเด็กและเยาวชนไทย 86.9% เคยโดนบูลลี่หรือถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และมากกว่า 76% เป็นการโดนบูลลี่ในเรื่องหน้าตาและบุคลิก รวมทั้งการตอกย้ำปมด้อย และการทำร้ายร่างกาย แน่นอนว่าการถูกบูลลี่และล้อเลียนนี้ย่อมทิ้งบาดแผลไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ไว้ในจิตใจของผู้เป็นเหยื่ออย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการเตรียมตัวรับมือกับการโดนบูลลี่อย่างถูกวิธีไม่ให้สภาพจิตใจบอบช้ำและนำพาตนเองไปสู่สถานการณ์ที่ย่ำแย่อื่น ๆ
การบูลลี่ (Bully) คืออะไร
การบูลลี่ (Bully) คือ พฤติกรรมการกลั่นแกล้งหรือรังแกผู้อื่น เพื่อให้เกิดความโกรธ กลัว เสียใจ อับอาย หรือการทำร้ายทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูดหรือการกระทำ ซึ่งรูปแบบของการบูลลี่ที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในสังคมมักเป็นการล้อเลียนรูปร่าง หน้าตา หรือสถานะทางสังคม และมักเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่คิดว่าตนถืออำนาจเหนือกว่าเหยื่อที่เป็นผู้โดนกระทำ
สาเหตุที่ทำให้เกิดการบูลลี่
สาเหตุของการบูลลี่เกิดได้จากหลายทางและหลายปัจจัย เช่น สาเหตุที่มาจากผู้กระทำต้องการอำนาจ การข่มเหงรังแกผู้อื่นจึงถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้รู้สึกถึงพลังได้ง่ายที่สุด สาเหตุจากการขาดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน หรือมีปัญหาทางอารมณ์หรือมีปมด้อยของตนเองที่ไม่ต้องการให้ใครล่วงรู้จึงทำตัวแบบยกตนข่มท่าน อย่างการมีอารมณ์รุนแรง โกรธ เกลียด โมโห หงุดหงิดง่ายแต่ไม่รู้จะเอาอารมณ์ไปลงที่ไหนจึงลงเอยด้วยการบูลลี่ผู้อื่น หรือบางรายอาจมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทำให้จดจำพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านั้นและนำมาปฏิบัติกับผู้อื่นต่อไป
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมอาจเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้การโดนบูลลี่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การเพิกเฉยของผู้คนที่อยู่รอบข้าง เช่น ผู้ใหญ่เห็นการบูลลี่กันในเด็กและเพิกเฉยต่อความรุนแรงนั้นสุดท้ายอาจทำให้ผู้กระทำผิดได้ใจและยิ่งกระทำการใด ๆ ที่รุนแรงยิ่งขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่าจากการสำรวจยังพบว่าบางครั้งผู้ใหญ่อาจเป็นผู้ที่ร่วมทำการบูลลี่เด็กเองด้วยซ้ำ
ประเภทของการบูลลี่
การโดนบูลลี่แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- • การโดนบูลลี่ทางร่างกาย (Physical Bullying) เป็นการกลั่นแกล้ง รังแกที่เกี่ยวข้องทางร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกรังแก เช่น การชกต่อย ทุบตี ทำร้ายร่างกายส่วนต่าง ๆ ทำให้สะดุด การแย่งสิ่งของ การถ่มน้ำลาย หรือการกระทำหยาบคายอื่น ๆ
- • การโดนบูลลี่ทางวาจา (Verbal Bullying) เป็นการใช้คำพูด ถ้อยคำรุนแรง การเขียน ในเชิงล้อเลียน ด่าทอ หยาบคาย ข่มขู่ เพื่อทำให้ผู้ที่ได้ฟังหรือได้อ่าน รู้สึกคับข้องใจ อับอาย โกรธ เสียใจ หรือรู้สึกไม่ดี เช่น ล้อคำพูด เรียกชื่อซ้ำเพื่อยั่วโมโห แสดงความคิดเห็นทางเพศที่ไม่เหมาะสม พูดจาเหน็บแนม และขู่ว่าจะทำร้าย
- • การโดนบูลลี่ทางสังคม (Social Bullying) เป็นการทำให้เสียหน้า ทำให้รู้สึกด้อยค่า หรือแสดงอาการเพิกเฉย กีดกัน ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเช่นเดียวกันกับผู้อื่น เช่น การขับออกจากกลุ่ม การสร้างข่าวลือที่ทำให้ชื่อเสียงเสียหาย หรือทำให้อับอายในที่สาธารณะ
- • การโดนบูลลี่ทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying) เป็นการใช้ประโยชน์ของโลกดิจิทัลในทางที่ผิด ด้วยการกลั่นแกล้งผู้อื่นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือโลกอินเตอร์เน็ต เช่น การโพสต์ภาพ ข้อความ คลิป หรือเสียง เพื่อจงใจสร้างความอับอายให้เหยื่อ หรือแม้กระทั่งสร้างตัวตนปลอม เพื่อปล่อยข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง หรือด่าทอผู้อื่น
แบบไหนถึงเรียกว่าถูกบูลลี่
พฤติกรรมที่เข้าข่ายการบูลลี่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำจะมีลักษณะที่ประกอบไปด้วย 2 เงื่อนไข ดังนี้
- การใช้กำลังกลั่นแกล้ง: ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งจากผู้ที่อำนาจหรือมีพละกำลังที่แข็งแรง ด้วยการใช้กำลังทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกอับอายในที่สาธารณะ ด้วยการกลั่นแกล้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์
- เกิดขึ้นซ้ำ ๆ: พฤติกรรมกลั่นแกล้งที่เข้าข่ายการบูลลี่กัน คือ มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง การกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางร่างกาย การข่มขู่ หรือรวมถึงการปล่อยข่าวลือทางวาจาและใน Social Media
วิธีรับมือกับการโดนบูลลี่
- • ตั้งสติและประเมินสถานการณ์
ในสถานการณ์ที่โดนบูลลี่หรือกลั่นแกล้งอยู่ การตั้งสติให้มั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเมินสถานการณ์ที่อยู่ข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง ไม่ถูกชักนำไปด้วยความโมโหและโกรธเกรี้ยว ที่อาจนำพาให้สถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าแย่ลงไปกว่าเดิม และมีสติย้ำเตือนกับตนเองเสมอว่าทุกปัญหามีทางออกไม่ว่าจะเป็นการเจรจา หรือหากสถานการณ์ไม่นำพาเราจะมีสติมากพอที่จะเก็บหลักฐานและนำไปใช้เอาผิดผู้กระทำความผิดได้ในอนาคต - • เดินหนี
การโต้กลับด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ผู้ที่กระทำการบูลลี่หวังให้เกิด ดังนั้นต้องไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด และการกระทำที่ง่ายที่สุด คือ การเดินหนีออกไปจากสถานการณ์นั้น เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น - • เพิกเฉย
หากอยู่ในสถานการณ์การโดนบูลลี่ที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ การกระทำที่ดีที่สุด คือ การเพิกเฉย ปล่อยให้ผู้กระทำร้อนรนและกระวนกระวายใจไปเอง ใช้ความนิ่งของคุณสงบทุกอย่าง และเอาความสนใจของคุณพุ่งไปที่สิ่งอื่นที่น่าสนใจและสร้างสรรค์มากกว่า - • ตอบโต้ด้วยวิธีที่เหมาะสม
หากจำเป็นที่จะต้องตอบโต้ ให้ตอบโต้ด้วยความเหมาะสม ตอบโต้ในเชิงบวก เช่น หากโดนบูลลี่เรื่องรูปร่างหรือหน้าตา ให้แสดงออกถึงความมั่นใจในรูปร่างและหน้าตาที่แสนจะเป็นเอกลักษณ์ของคุณที่สร้างให้คุณเป็นคุณ ที่สำคัญคือคุณต้องมองตนเองในเชิงบวก และไม่ด้อยค่าตนเอง - • หาคนกลางช่วย
หากเป็นการโดนบูลลี่ที่รุนแรงเกินกว่าที่คุณจะรับมือด้วยตนเองไหวไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทรัพย์สิน หรือจิตใจ ให้รีบหาคนกลาง คนที่พร้อมช่วยเหลือคุณ คนที่มีอำนาจเหนือกว่าคุณและคู่กรณีของคุณ และมีความเป็นกลางสูงมาช่วยแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ เช่น ผู้ปกครอง คุณครู เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หัวหน้างาน หรือผู้บังคับบัญชา - • บันทึกหลักฐาน
เพื่อให้คำพูดของคุณมีน้ำหนักและไม่เป็นการกล่าวหาลอย ๆ เมื่อขอให้ผู้อื่นช่วยเหลือไกล่เกลี่ยการโดนบูลลี่ของคุณ ให้พยายามบันทึกและหาหลักฐาน ที่จะใช้มัดตัวผู้กระทำความผิด และนอกจากนี้หลักฐานยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปกป้องคุณได้อีกด้วยในกรณีที่การบูลลี่นั้นรุนแรง - • แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันสังคมไทยตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงของการถูกบูลลี่มากขึ้น ทำให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายที่พร้อมรับฟัง และเป็นเพื่อนคู่คิดของคุณในกรณีที่คุณประสบปัญหาจากการโดนบูลลี่ เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตโทร 1323
วิธีดูแลตัวเองหลังจากโดนบูลลี่
หลังจากโดนบูลลี่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ สภาพจิตใจของตัวคุณเอง หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่โดนบูลลี่หรือการกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงไม่ว่าทางใดก็ตาม ให้มั่นใจในตนเองเข้าไว้ ย้ำเตือนตนเองเสมอว่า คุณไม่ได้ผิดและการถูกบูลลี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับคุณ หรือกับใครทั้งนั้น และสถานการณ์ที่จะผ่านพ้นไปอย่างแน่นอน อย่าลืมผ่อนคลายตัวเองหรือหากิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยดึงความสนใจของคุณออกจากสถานการณ์ที่เลวร้าย
คำแนะนำหากโดนบูลลี่
หากรู้สึกอัดอั้นตันใจต่อเรื่องราวของการโดนบูลลี่ที่เกิดขึ้น ให้บอกเล่าเรื่องราวกับคนที่คุณไว้ใจหรือต้องการปรึกษา การพูดคุยกับผู้อื่นจะช่วยให้ความรู้สึกของคุณกลับมาดีขึ้น แต่หากรู้สึกว่าความเครียดที่สะสมเอาไว้ ความวิตกกังวล ความรู้สึกซึมเศร้า ไม่หายไปจนทำให้คุณเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ และคุณไม่รู้ว่าจะต้องปรึกษาใครให้คิดถึงการ ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพราะคนเหล่านี้คือผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่แสนกลัดกลุ้มในครั้งนี้ได้
มุมมองทางกฎหมายเกี่ยวกับการโดนบูลลี่
ในแง่ของกฎหมายการบูลลี่นั้นมีความผิด ซึ่งมีตัวอย่างของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. ประมวลกฎหมายอาญา
- • มาตรา ๒๙๓ ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- • มาตรา ๓๙๒ ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- • มาตรา ๓๙๓ ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- • มาตรา ๓๙๗ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
- • มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) - • มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวดพอ รวมถึงการรวบรวมหลักฐานเองในฐานะของเหยื่อความรุนแรงจากการโดนบูลลี่ก็เป็นเรื่องยาก จึงยังทำให้มีช่องโหว่ทางกฎหมายอยู่มาก และผู้ที่โดนบูลลี่หลายคดีก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร
AIS สนับสนุนให้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างง่ายดายในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการบูลลี่มากขึ้น โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์หรือ Cyberbullying ซึ่งก็คือการให้ร้ายผู้อื่น ดูถูก เหยียดหยาม หมิ่นประมาท หรือแม้กระทั่งการโพสต์ข่มขู่บนโซเชียลมีเดีย โดยหลายครั้งการบูลลี่และการโดนบูลลี่นั้นเกิดขึ้นระหว่างคนสองคนที่ไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ แต่เพียงเพราะต้องการวิจารณ์ผู้อื่นโดยเฉพาะในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก ก็ทำให้เกิดการบูลลี่กันบนโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะบุคคลที่เปิดเผยบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นสาธารณะ ทำให้คนอื่นสามารถเข้าแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์นั้น ๆ ได้อย่างเปิดเผย แต่เพียงคำวิจารณ์ไม่กี่คำกลับส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงของผู้ที่ถูกกระทำ รวมถึงบั่นทอนกำลังใจและคุณค่าของผู้ที่โดนบูลลี่ไปอีกนานแสนนาน และบางครั้งอาจนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงอย่างการทำร้ายตนเองหรือการฆ่าตัวตายได้เลย
เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเหล่านี้ AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของเมืองไทย จึงต้องการที่จะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของความเหมาะสมและความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเหมาะสมในการปฏิบัติตัวต่อผู้อื่น โดยการส่งเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล การป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยเครื่องมือดิจิทัล สร้างความตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ภายใต้โครงการ AIS อุ่นใจ CYBER และในตอนนี้ AIS มีเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและสะดวกสบายมากๆในการที่จะให้เราเข้าไปตรวจสอบสุขภาวะดิจิทัลของเรา เพื่อเช็กระดับความรู้ของเราในด้านไซเบอร์ นั่นก็คือ Digital Health Check ผ่านทางเว็บไซต์ https://digitalhealthcheck.ais.th ที่จะช่วยประเมินทักษะทางดิจิทัลของเราว่าเรามีความรู้อยู่ในระดับไหน แถมยังแนะนำคอร์สเรียนจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่เหมาะสมกับเรา เพื่อให้เราได้เข้าไปเรียนรู้พัฒนาทักษะทางดิจิทัลของเราในเรื่องนั้นๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ และกลลวงจากเหล่ามิจฉาชีพ เสริมสร้างทักษะความฉลาดทางดิจิทัลผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม LearnDi for Thais ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย สามารถเรียนรู้ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านทางเว็บไซต์ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th และแอปพลิเคชัน “อุ่นใจ CYBER”