รวม 22 กลโกงมิจฉาชีพ ที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์ พร้อมวิธีรับมือ

รวม 22 กลโกงมิจฉาชีพ ที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์ พร้อมวิธีรับมือ

มุกเก่าไป มุกใหม่มา เรียกได้ว่าเหล่ามิจฉาชีพมีกลโกงมากมายที่พร้อมจะทำให้คุณสูญเสียเงินไปโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคออนไลน์ที่ทำให้การทำงานของมิจฉาชีพง่ายยิ่งขึ้นไปอีก จนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนไทยแทบประเมินค่าไม่ได้ นอกจากจะสูญเสียเงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตให้กับมิจฉาชีพแล้ว ยังเสียสุขภาพจิต ต้องอยู่กับความหวาดระแวงเพราะไม่รู้เลยว่าตัวเราเองจะกลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไปตอนไหน วันนี้เราจึงขอรวบรวมเอากลโกงกว่า 22 ข้อที่มิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์มาฝากกัน พร้อมบอกวิธีรับมือหากคุณต้องเผชิญหน้ากับกลโกงนั้น ๆ

22 กลโกงมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์มีอะไรบ้าง

  • แก๊งคอลเซ็นเตอร์
    แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นกลโกงที่มีมาอย่างยาวนาน โดยลักษณะที่ใช้ คือ ใช้การโทรเข้าเบอร์โทรศัพท์มือถือของเหยื่อแล้วทำการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ จากนั้นก็จะสร้างเรื่องหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ โดยเป้าหมายคือ "นำเงินเหยื่อออกจากบัญชีด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง" โดยคำพูดที่มักพบบ่อย ๆ จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ หลอกว่าเหยื่อเกี่ยวข้องกับการส่งพัสดุผิดกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมาย โดนอายัดบัญชีธนาคาร แล้วอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดเข้ามาเพื่อตรวจสอบ แล้วมิจฉาชีพก็จะเชิดเงินนั้นหนีไป
  • หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ
    หลอกให้ลงทุนออนไลน์ ส่วนใหญ่จะหลอกให้ลงทุนในหุ้น เหรียญ ฟอเร็กซ์ หรือลงทุนผลิตสินค้า โดยการหลอกล่อว่าเป็นการลงทุนน้อย แต่ได้กำไรมหาศาลและหลอกลวงให้หลงเชื่อด้วยการนำคนดังมาแอบอ้าง รวมถึงสร้าง story ให้ดูน่าเชื่อถือ ข้อสังเกตว่าเป็นมิจฉาชีพที่มาหลอกคือ ให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ที่สำคัญคือบัญชีที่ใช้รับเงินเป็นบัญชีบุคคลธรรมดาไม่ใช่บัญชีของบริษัท และไม่มีที่ทำการเป็นหลักแหล่ง หากพบเห็นการกระทำในลักษณะนี้ให้ฟันธงไปก่อนเลยว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ
  • หลอกขายสินค้าออนไลน์
    การหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ แต่เมื่อถึงเวลาไม่ยอมส่งของให้ หรือส่งของไม่ตรงปกมาให้ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่พบการแจ้งความจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ แท่งไฟศิลปิน อัลบั้มศิลปินเกาหลี ของแบรนด์เนม เป็นต้น แม้ความเสียหายส่วนใหญ่จะไม่ได้มีมูลค่าสูงเทียบเท่ากลโกงแบบอื่น แต่เป็นกลโกงของมิจฉาชีพที่พบบ่อยและมีคนหลงเชื่อบ่อยที่สุด ดังนั้นหากต้องการดำเนินคดีสามารถแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชี เพื่อให้ออกเลขเคสไปแจ้งความดำเนินคดีได้
  • หลอกด้วย SMS ปลอม
    มิจฉาชีพมักจะใช้ชื่อของหน่วยงานหรือองค์กรณ์ที่น่าเชื่อถือ ส่งข้อความ SMS ซึ่งในข้อความอาจแนบลิงก์มาด้วย โดยลิงก์นั้นอาจจะเป็นไวรัสหรืออาจเป็นลิงก์สำหรับกรอกข้อมูล เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่อไป ข้อความที่ได้รับ เช่น สายการบิน X เสนอการจองตั๋วเครื่องบินผ่านลิงก์เพื่อรับตั๋วฟรี หรือรับสิทธิ์เฉพาะคุณ! ธนาคาร X ขอเสนอสิทธิ์การกู้เงินจำนวน 500,000 บาทผ่านลิงก์ เป็นต้น
  • เฟสบุ๊คปลอม
    ปลอมเฟสบุ๊คเป็นคนดังหรือคนที่เหยื่อรู้จักเข้าไปทำความรู้จักสนิทสนม แล้วหลอกให้ร่วมลงทุนหรือมีเรื่องเดือดร้อนและต้องการขอยืมเงิน เหยื่อหลงเชื่อได้ง่ายหากไม่ได้ตรวจสอบให้ดี ในต่างประเทศเคยมีกรณีที่มิจฉาชีพ หลอกเหยื่อว่าเป็น “คีอานู รีฟ” นักแสดงนำจากเรื่อง John Wick ซึ่งมีการหลอกให้เหยื่อตายใจโดยการใช้ Deepfake AI ขณะ Facetime ทำให้สูญเสียเงินไปกว่า 25 ล้านบาทไทย
  • เว็บไซต์ปลอม
    มิจฉาชีพจะทำการสร้างเว็บไซต์ปลอมให้ดูน่าเชื่อถือ โดยชื่อ URL อาจจะถูกเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อทำให้แตกต่างจากเว็บไซต์ทางการของบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานนั้นๆ หากไม่สังเกตอย่างละเอียด อาจเชื่อว่าเป็นเว็บไซต์จริงได้ เช่น www.moqh.in.th เป็นเว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างชื่อกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่เว็บไซต์จริงใช้ URL www.moph.go.th ซึ่งอาจส่งลิงก์ของเว็บไซต์ปลอมนี้ผ่านมาทางไลน์หรือข้อความ เพื่อให้เหยื่อกดเข้าไปและทำการขโมยข้อมูลของเหยื่อ ดังนั้นหากสงสัยเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่คุณจำเป็นต้องกดเข้าไปอาจนำไปตรวจสอบที่ เว็บไซต์ https://www.whois.com/whois ซึ่งจะระบุประเทศที่จดทะเบียนเว็บไซต์นั้น ๆ โดยเว็บไซต์ที่จดทะเบียนต่างประเทศถือว่ามีความเสี่ยงสูง และไม่ควรกดลิงก์เข้าเว็บไซต์ใด ๆ แบบไม่ตรวจสอบ
  • หลอกให้ทำงานเสริมผ่านช่องทางออนไลน์
    มิจฉาชีพอาจแอบแฝงมากับประกาศรับสมัครงานพร้อมโฆษณาจูงใจ เช่น ให้ค่าคอมมิชชันสูง ทำงานได้จากบ้าน ใช้เพียงสมาร์ทโฟน ฯลฯ นอกจากนี้งานที่นำมาหลอกลวงมักเป็นงานออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริง อ้าง Platform ที่น่าเชื่อถือ เช่น TikTok, YouTube, Lazada เป็นต้น โดยหลอกลวงให้ กด LIKE กด SHARE เพื่อเพิ่มยอดวิว แกล้งรับออเดอร์ ทำสต็อกสินค้า แต่สุดท้ายกลับเชิดเอาเงินที่เรียกเก็บก่อนหน้าโดยอ้างว่าเป็นเงินค้ำประกันหนีไป
  • หลอกให้กู้เงิน
    มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้แล้วโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือส่งอีเมลหาเหยื่อโดยตรงว่าให้บริการเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว ไม่ต้องซื้อสินค้า ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร (ซึ่งมักเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำเกินจริง)เมื่อเหยื่อติดต่อไปและขอกู้เงิน มิจฉาชีพจะอ้างว่าจะส่งสัญญาให้กับผู้ขอกู้เพื่อลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งขอให้เหยื่อโอนเงินชำระค่าทำสัญญา ค่าเอกสาร ค่ามัดจำ หรือดอกเบี้ยภายในเวลาที่กำหนด โดยสามารถยกเลิกและขอเงินโอนล่วงหน้าดังกล่าวคืนได้ และเหยื่อส่วนมากมักจะรีบร้อน เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เงินกู้ จึงรีบโอนเงินให้กับผู้ให้กู้ในเวลาที่กำหนด แต่เมื่อติดต่อกลับไป พบว่าไม่สามารถติดต่อได้ และสูญเงินที่เสียให้กับมิจฉาชีพไป
  • หลอกให้ทำบุญ
    เป็นการหลอกลวงต่อผู้มีจิตศรัทธาโดยการแอบอ้างเป็นหน่วยงานหรือองค์กรการกุศล หลอกล่อให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้ามาร่วมทำบุญ แต่ที่แท้อาจเป็นหน่วยงานปลอมและเงินที่เราทำบุญไปนั้นก็ไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
  • ข่มขู่ให้เกิดความกลัว
    เป็นหนึ่งในวิธีการหลอกลวงที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ชอบใช้ คือ การหลอกลวงเหยื่อว่าพบการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือการส่งพัสดุที่ผิดกฎหมาย และใช้ชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากดดันให้เหยื่อเกิดความกลัว เช่น บอกว่าต้องมารายงานตัวที่สน. ซึ่งไกลจากสถานที่ที่เหยื่ออยู่ให้ทันภายในเวลาที่กำหนด (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) หากไม่เป็นไปตามนั้นจะดำเนินการจับกุมทันที แล้วจึงเสนอทางออกให้ว่าหากไม่สามารถมารายงานตัวได้ให้โอนเงินทั้งหมดในบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน รวมถึงค่าดำเนินการแล้วจะออกหน้าช่วยเหลือไม่ให้ถูกจับกุม ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็สูญเงินไปแล้วจนหมดบัญชี
  • หลอกด้วยเสน่หา
    วิธีการของมิจฉาชีพ คือ การใช้ภาพและข้อมูลของบุคคลอื่น มาหลอกให้รักอ้างว่าจะซื้อของหรือให้เงินตอบแทนภายหลัง แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องให้เงินให้ก่อนด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น หลอกว่าเป็นชาวต่างชาติ ต้องการจะเดินทางมาหาเหยื่อยังประเทศไทย แต่บัญชีธนาคารโดนอายัด จึงขอเงินเพื่อไปทำการปลดอายัดบัญชีแล้วจะมาเที่ยว มาหาที่ประเทศไทย
  • หลอกว่าเป็นเพื่อน
    ปลอมตัวเป็นคนรู้จักโดยอาศัยการโทรแล้วแนะนำตัวว่าเป็นคนที่เหยื่อรู้จัก มักพูดจาวกไปวนมาจนเหยื่อหลงเชื่อ หลังจากนั้นจึงทำการขอยืมเงินหรือหลอกไปลงทุนและเสริมว่าจะตอบแทนให้มากกว่าที่ให้ยืมมา ดังนั้นหากเจอมิจฉาชีพประเภทนี้ให้หลีกเลี่ยงการพูดคุยด้วย เพราะข้อมูลที่เอาไปใช้หลอกลวงอาจมาจากคำพูดที่เราหลุดปากไปนั่นเอง
  • แชร์ลูกโซ่
    เป็นการหลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง เน้นไปที่การสร้างเครือข่ายโดยการแนะนำผู้อื่นเพิ่มเติม สร้างรายได้จากการเพิ่มสมาชิก
  • พนันออนไลน์
    มักเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หว่านล้อมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การให้ค่าเสียเวลากรณีที่เล่นเสีย คืนให้แก่ผู้เล่น และแจกสูตรการันตีผลตอบแทนที่ไม่มีจริง
  • หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร
    สำหรับกรณีถูกหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมโทรศัพท์ระยะไกลหรือติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม (สังเกตง่าย ๆ คือ ไฟล์ติดตั้งมักเป็นนามสกุล .apk) โดยใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ที่เมื่อแอปพลิเคชันใดๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานภายใต้ Accessibility Service แล้ว จะสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้

    ดังนั้นหากถูกหลอกด้วยวิธีนี้ ควรรีบปิดเครื่องทันที แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ดหรือตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (เช่น ปิดเครื่องหรือเปิดโหมดการบิน) จากนั้นให้ติดต่อธนาคาร และดำเนินการแจ้งความทันทีหากเกิดความเสียหาย
  • การส่ง QR code เพื่อหลอกให้โอนเงิน
    มิจฉาชีพจะอ้างว่าจะคืนค่าสินค้า โดยหลอกให้เหยื่อสแกน QR Code ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการโอนเงินให้แก่คนร้าย หรือบางกรณีจะเป็นการให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคารและรหัสผ่านเพื่อขโมยเงินของเหยื่อ
  • หลอกว่าได้รับรางวัล
    เป็นการหลอกลวงโดยเล่นกับความโลภของผู้คน โดยอ้างว่าเหยื่อเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ที่น่าล่อตาล่อใจ แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องเสียค่าธรรมเนียมก่อนจึงจะรับรางวัลไปได้ หรืออาจหลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงินเพื่อรับรางวัล ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการหลอกลวงเพื่อขโมยข้อมูล
  • หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศ
    เป็นการหลอกโดยการทำโฆษณาเชื้อเชิญให้ไปทำงานต่างประเทศ และมีรายได้ที่ดี โดยหลอกให้หลบหนีออกนอกประเทศ แต่เมื่อถึงเวลากลับบังคับกักขังให้ทำงานผิดกฎหมายและใช้แรงงานเยี่ยงทาส
  • หลอกให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย
    หลอกให้เหยื่อหลงเชื่อและยอมส่งภาพโป๊เปลือย ลามก อนาจารไปให้ หลังจากนั้นนำมาใช้แบล็คเมล์เหยื่อเพื่อข่มขู่ ทำให้เหยื่อต้องโอนเงินไปให้เป็นค่าปิดปาก
  • ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า)
    ผู้ถูกหลอกมักเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางที่ต้องการหารายได้ จึงถูกหลอกให้เปิดบัญชีเพื่อแลกกับเงินแล้วนำบัญชีเหล่านั้นไปกระทำการหลอกลวงผู้อื่น หรือฟอกเงิน
  • ข่าวปลอม (Fake news)
    การปล่อยข่าวลือซึ่งไม่เป็นความจริงและมาจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อความลูกโซ่ที่ส่งต่อกันทางไลน์ เป็นต้น
  • เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์
    มิจฉาชีพจะใช้ Ransomware ซึ่งเป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่จะล็อกไฟล์เอกสาร รูปภาพ วิดีโอ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเปิดไฟล์ใด ๆ ได้ ซึ่งไฟล์เหล่านั้นจะถูกล็อกรหัสและต้องใช้คีย์ในการปลดล็อกเพื่อกู้ข้อมูลคืนมา ผู้ใช้งานจะต้องทำการจ่ายเงินตามข้อความ “เรียกค่าไถ่” ที่ปรากฏ

วิธีป้องกันและรับมือกับกลโกงมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์

วิธีป้องกันและรับมือกับกลโกงมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์

  • ตั้งสติให้มั่น
    ก่อนรับโทรศัพท์ อ่านข้อความ หรือติดต่อกับใครให้เรามีสติอยู่กับเนื้อกับตัวเสมอ เพื่อใช้สติในการไตร่ตรองว่าข้อมูลที่เราได้รับมานั้นจริงหรือมั่วหรือมีส่วนไหนที่น่าสงสัยหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับคุณหรือน่าสงสัย ให้หยุดการติดต่อกับบุคคลนั้น ๆ ทันที
  • ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
    มิจฉาชีพมักแอบอ้างชื่อหน่วยงานหรือคนที่เรารู้จักเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องตรวจสอบซ้ำ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าวิธีการหรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างนั้นเป็นของจริงหรือไม่ เช่น มีการเรียกเก็บค่าไฟเพิ่มเติมผ่านการโทรศัพท์จริงหรือ หรือการคืนเงินภาษีส่วนเกินของกรมสรรพากรมีอยู่จริงหรือ การตรวจสอบอาจใช้การโทรสอบถามหรือดูจากแหล่งตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ทางการที่เชื่อถือได้
  • ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัว
    หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินกับคนแปลกหน้า แม้ผู้ติดต่อจะอ้างว่าเป็นหน่วยงานราชการหรือสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์และลงข้อมูลในเว็บไซต์
  • ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
    การเข้าแอปหรือการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวบนโทรศัพท์หรือเว็บไซต์ควรมีการเข้ารหัส เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ๆ
  • ไม่กดลิงก์แปลก ๆ
    ไม่ควรกดลิงก์แปลก ๆ ที่ส่งมาทางไลน์ เฟสบุ๊ค หรือ SMS ไม่ว่าจะถูกส่งมาจากคนที่รู้จักหรือไม่ก็ตาม
  • ไม่ดาวน์โหลดไฟล์แปลก ๆ
    หากมีการแนบไฟล์มากับข้อความไม่ควรดาวน์โหลดก่อนตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นไฟล์ที่ปลอดภัย ส่วนการติดตั้งแอพควรติดตั้งบน Play Store หรือ App Store เท่านั้น
  • ไม่โอนเงินให้บุคคลแปลกหน้า
    หากมีคนแปลกหน้าขอให้โอนเงินให้ หรือขอให้ทำธุรกรรมการเงินใด ๆ ให้ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะคุณอาจกลายเป็นเหยื่อหรือผู้ร่วมกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว
  • แจ้งความหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    หากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ไม่ต้องอาย ให้รีบแจ้งความหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพราะอาจยับยั้งการหลอกลวงของมิจฉาชีพได้ หรืออาจเป็นการแจ้งเบาะแสเพื่อนำไปสู่การจับกุมเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์นี้ต่อไป

AIS อุ่นใจ CYBER พร้อมช่วยเหลือป้องกันภัยร้ายจากมิจฉาชีพออนไลน์

AIS เดินหน้าส่งเสริมความเหมาะสมและปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ ภายใต้โครงการ “AIS อุ่นใจ CYBER” ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ประชาชนคนไทยทุกเพศทุกวัย และเพื่อสร้างสังคมอุ่นใจจากการใช้งานในโลกไซเบอร์ โดยเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย เพื่อมุ่งขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงการรับมือกับภัยไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคคลที่สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยเราได้จัดทำโครงการต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ หรือการป้องกันภัยไซเบอร์และมิจฉาชีพออนไลน์ด้วยเครื่องมือดิจิทัลอย่าง AIS Secure Net และ AIS Fibre Secure Net รวมไปถึงการสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัล “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลฉบับแรกของคนไทย เป็นต้น และในตอนนี้ AIS มีเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและสะดวกสบายมากๆในการที่จะให้เราเข้าไปตรวจสอบสุขภาวะดิจิทัลของเรา เพื่อเช็กระดับความรู้ของเราในด้านไซเบอร์ นั่นก็คือ Digital Health Check ผ่านทางเว็บไซต์ https://digitalhealthcheck.ais.th ที่ช่วยประเมินทักษะทางดิจิทัลของเราว่าเรามีความรู้อยู่ในระดับไหน แถมยังแนะนำคอร์สเรียนจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่เหมาะสมกับเรา เพื่อให้เราได้เข้าไปเรียนรู้พัฒนาทักษะทางดิจิทัลของเราในเรื่องนั้นๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ และกลลวงจากเหล่ามิจฉาชีพ